Saturday, May 18, 2013

โครงการฝนหลวง


โครงการฝนหลวง


โครงการฝนหลวงเกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคและการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง"ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลอง ปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี ๒๕๑๒ ด้วยความสำเร็จของโครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฏีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง"ต่อไป
สารที่ใช้ทำฝนหลวงในปัจจุบันมีทั้งสิ้น ๗ ชนิด บางชนิดมีคุณสมบัติดูดซับความชื้นได้ดี (hygroscopic substances) บางชนิดมีคุณสมบัติเป็นแกนกลั่นตัว (CCN) ของความชื้นในอากาศ บางชนิดสามารถคายความร้อนออกมาเพื่อกระตุ้น หรือเสริมการก่อตัวและเจริญเติบโตของเมฆ บางชนิดสามารถดูดดึงความร้อนทำให้อุณหภูมิของอากาศหรือเมฆเย็นตัวลง เร่งการกลั่นตัวของไอน้ำและเสริมความหนาแน่นของเมฆจนเกิดเป็นฝน การเลือกใช้สารฝนหลวงแต่ละชนิดจึงพิจารณาคุณสมบัติที่กล่าวข้างต้นกับสภาวะของเมฆหรือบรรยากาศในแต่ละวันเป็นสำคัญ สารฝนหลวงที่ใช้แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ สารฝนหลวงสูตรร้อน สารฝนหลวงสูตรเย็น และสารฝนหลวงสูตรสร้างแกนกลั่นตัวของอากาศ
สำหรับสารฝนหลวงสูตรเย็นนั้นมีคุณสมบัติเมื่อดูดซับความชื้นในอากาศ หรือทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้อุณหภูมิลดลงหรือเย็นลง สำหรับที่ใช้ในปัจจุบันมี ๓ ชนิดคือ
  1. สูตร ๔ ยูเรีย (Urea)
  2. สูตร ๑๙ แอมโมเนียมไนเตรท (Ammonium Nitrate)
  3. สูตร ๓ น้ำแข็งแห้ง (Dry ice)
โครงการฝนหลวงเป็นนวัตกรรมซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พสกนิกรเพื่อบรรเทาความแห้งแล้ง ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ไปในตัว อันเป็นผลดีต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าไปด้วย
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนองแนวพระราชดำริด้วยการสนับสนุนการดำเนินงานปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ โดยมอบน้ำแข็งแห้งและน้ำมันอากาศยาน JET A-1 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำหรับใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๔ จนถึงปัจจุบัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มอง "น้ำแข็งแห้ง"ให้โครงการฝนหลวงเป็นปริมาณรวมแล้ว ๒,๘๕๐ ตัน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๒,๘๐๐๐,๐๐๐ บาท

No comments:

Post a Comment