Saturday, May 18, 2013

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับป่า


โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี

 ห้วยทราย ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ก็เช่นเดียวกับดินแดนอื่น ๆ อีกมากของประเทศไทย ที่แต่เดิมเคยเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้นานาพันธุ์เขียวชะอุ่ม มีสัตว์ป่าโดยเฉพาะ เนื้อทราย อาศัยตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อว่า "ห้วยทราย" และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้าง "พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน" หรือป่าเนื้อทราย ขึ้นที่นั่น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๗


 
 
แต่ในช่วงเวลาเพียง ๓๐ กว่าปี พื้นที่ห้วยทรายได้ถูกราษฎรเข้าบุกรุกทำลายป่าปราบพื้นที่เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนไม่เหลือป่าไม้และสัตว์ป่าจึงเกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และสภาพพื้นดินเสื่อมโทรม ทำการเกษตรกรรมไม่ได้ผล
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ ห้วยทราย มีพระราชดำรัสด้วยน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยว่า
"หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณห้วยทราย เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์
ถ้าขับรถจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนเพชรเกษม ประมาณ ๒๒๐ กิโลเมตร จะพบที่ตั้ง โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่ห่างจากชะอำไปางทิศใต้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จัดเป็นพื้นที่ดำเนินงานตามโครงการ๑๕,๘๘๒ ไร่ มีสำนักงานโครงการตั้งอยู่ที่กองกำกับการ 1 กองบังคับการฝึกพิเศษ (ค่ายพระรามหก) และมีศูนย์สาขาคือ โครงการศึกษาวิธี

การฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี



การดำเนินงานสนองพระราชดำริในการพัฒนาและฟื้นฟู "ห้วยทรายนี้ มีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมงานจำนวนมาก เช่น กรมที่ดิน กรมพัฒนาชุมชน กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ ฯลฯ กำหนดแผนงานเป็น ๓ แผน คือ

แผนงานการฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิทยาของห้วยทราย และพื้นที่ใกล้เคียง โดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้สมดุลย์กับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และสามารถฟื้นฟูให้มีศักยภาพในการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่

ระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ให้คืนสภาพป่าต้นน้ำลำธาร

ระบบนิเวศน์พื้นราบ ฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเกษตรกรรมระบบวนเกษตร

ระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเล ฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ให้คืนสภาพป่าบกและป่าชายเลน

แผนการศึกษาทดลอง ทำการทดลองศึกษาและวิจัย เพื่อให้ได้รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพต่าง ๆ โดยยึดหลักการที่ว่า ราษฎรอยู่รอดและธรรมชาติก็อยู่รอดด้วย มีการทดลองอนุรักษ์ดินและน้ำ พันธุ์พืช สัตว์ และปล่อยสัตว์คืนสู่ชีวิตธรรมชาติ ศึกษาหารูปแบบในการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม เช่น เลี้ยงกบ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร นำออกเผยแพร่เป็นแบบอย่างแก่ราษฎร

แผนงานการพัฒนาช่วยเหลือประชาชน เป็นการสนองพระราชดำริที่จะทรงขจัดความยากจน ความทุกข์ลำเค็ญของราษฎรในพื้นที่โครงการ มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม พัฒนาอาชีพการเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น งานจักสาน เจียระไนอัญมณี พัฒนาด้านสุขภาพอนามัย การวางแผนครอบครัว การตั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ฯลฯ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรให้คืนสู่สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ

การศึกษาวิจัยและการแสดงของศูนย์ เพื่อนำความรู้ออกเผยแพร่สู่ประชาชนมุ่งเน้นการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม สร้างแนวป้องกันไฟป่า โดยใช้ระบบป่าเปียก เช่น สร้างแนวคูคลอง และพืชเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงและอนุรักษ์ป่า และสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้ พร้อมกับเพาะปลูกพืชเกษตรกรรมที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย

กิจกรรมที่น่าสนใจของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ คือ งานพัฒนาป่าไม้ ปลูกป่า ๓ อย่าง ได้แก่ ไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ สร้างสมดุลทางธรรมชาติของป่าให้คืนสู่สภาพเดิม
การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะเนื้อทราย แล้วปล่อยเข้าสู่ป่า เร่งสมดุลทางธรรมชาติ

การปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกหญ้าแฝกรอบอ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันสารพิษ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานที่จะให้พื้นที่ "ห้วยทราย" ที่เคยแห้งแล้ง กลับคืนสู่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ดุจดั่ง "มฤคทายวัน" ในกาลก่อนเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิเวศน์มฤคทายวันขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ ซึ่ง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ" จะเป็นแหล่งธรรมชาติ อำนวยประโยชน์แก่ประชาชนทั้งในชุมชนเมือง และในชนบทอย่างแท้จริงต่อไป
ที่ตั้งโครงการ
ตั้งอยู่ที่ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี บนถนนเพชรเกษม ห่างจากชะอำมาทางทิศใต้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ตามเส้นทางถนนสายเพชรเกษมประมาณ ๒๒๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ดำเนินการของโครงการรวมทั้งสิ้น๑๕,๘๘๒ ไร่ โทร (๐๓๒) ๔๗๑๑๑๐ โทรสาร (๐๓๒) ๔๗๑๑๓๐

No comments:

Post a Comment