Saturday, May 18, 2013

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับป่า


เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเปิดศาลบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินหมู่ที่ ๒ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน ๒๖๔ ไร่ พระองค์ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรที่ดินดังกล่าว และทรงมีพระราชดำริกับอำเภอ จังหวัด และหน่วยราชการต่าง ๆ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ กรมปศุสัตว์ ให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จัดทำเป็นศูนย์ศึกษาตัวอย่าง สาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพ เพื่อเป็นแหล่งให้เกษตรกรตลอดจนผู้สนใจได้เข้าชมศึกษา ค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติมได้

จากพระราชดำริข้างต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคเอกชนได้ประชุมปรึกษาหารือกันมอบหมายให้ กรมพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าของเรื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการบริหารและกรรมการที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราคณะกรรมการบริหารฯ ได้ทำหนังสือในนามของ กรมพัฒนาที่ดิน กส. ๐๘๐๑/๑๐๙๔ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานชื่อของศูนย์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การดำเนินโครงการสนองพระราชดำริสืบไป และทางสำนักราชเลขาธิการได้แจ้งให้ทราบตามหนังสือ ที่ รล.๐๐๐๒/๓๐๔๑ ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๒๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่า "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา"
เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๔ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้แต่งตั้งเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงคณะกรรมการบริหารของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนใหม่เรียกว่า "คณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนประกอบด้วยหม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรีเป็นองค์ประธาน และหน่วยงานต่าง ๆ หลายกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งภาคเอกชนเป็นกรรมการและเลขานุการ และทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ จังหวัดฉะเชิงเทรารับผิดชอบต่อพื้นที่ศูนย์ศึกษาฯ ดูแลให้ความปลอดภัยแก่บุคคลและสนับสนุนการดำเนินงานที่ร่วมดำเนินการอยู่ โดยคณะกรรมการบริหารฯ ได้พิจารณาจำแนกพื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาฯ ตามความเหมาะสม พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่รับผิดชอบและเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินที่ราษฎรอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี น้อมเกล้าฯ ถวายให้เป็นที่ดินส่วนพระองค์ เนื้อที่ ๘๖ ไร่ และกรมพัฒนาที่ดินได้รับแจ้งจากสำนักราชเลขาธิการ ตามหนังสือ ที่ รล.๐๐๐๗/๙๙๓๗ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๔ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สถานที่ดังกล่าวจัดตั้งเป็นสาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน และโปรดเกล้าฯ ให้กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมประมงฯ ร่วมกันพิจารณาดำเนินการ
ดังนั้น นับแต่เริ่มตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ได้มีราษฎรที่มีจิตศรัทธาน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก ๔๙๗ ไร่ ผนวกกับที่ดินบริเวณสวนรุกขชาติและสวนพฤกษศาสตร์ รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ๑,๒๒๗ ไร่เศษ นอกจากนี้ราษฎรตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินรวม ๓ แปลง จำนวน ๑๔๕ ไร่ ดำเนินการจัดทำในลักษณะ "ศูนย์บริการพัฒนาฯ" คือ ทำทั้งการสาธิตเพื่อเป็นตัวอย่าง และให้บริการพัฒนาแก่ราษฎรด้วย โดยใช้ชื่อว่า "ศูนย์บริการพัฒนาบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรีซึ่งอยู่ในข่ายความรับผิดชอบของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อีกประการหนึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพื้นที่ส่วนที่ติดกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนประมาณ ๖๔๒ ไร่ ให้เป็นพื้นที่ทำการศึกษาวิจัยและทดสอบการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแน่นอนขึ้น เป็นการสนับสนุนศูนย์ศึกษาฯ อีกด้านหนึ่งด้วย
คณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ได้กำหนดนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชดำริที่ได้รับพระราชทานแนวทางการพัฒนาไว้ และได้แบ่งพื้นที่หลักเป็นจำนวน ๔ พื้นที่ กล่าวคือ
๑) พื้นที่แห่งแรก คือพื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณ ๑,๒๒๗ ไร่เศษ ผนวกกับพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ประมาณ ๖๔๒ ไร่ ให้เป็นพื้นที่ที่ทำการศึกษาวิจัย และทดสอบการพัฒนาด้านการเกษตรกรรม รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑,๘๖๙ ไร่
๒) พื้นที่แห่งที่สอง คือ ที่ตำบลบ้านซ่องและตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ ๘๔ ไร่
๓) พื้นที่แห่งที่สาม คือ พื้นที่ราษฎรรอบนอกศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำโจนเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับศูนย์โครงการฯ จำนวน ๑๔ หมู่บ้าน ในเขตตำบลเขาหินซ้อนและตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ ๕๖,๐๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริวาร
๔) พื้นที่แห่งที่สี่ คือ ที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ประมาณ ๑๔๕ ไร่ ทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการพัฒนาในเขตจังหวัดปราจีนบุรี เป็นศูนย์บริวารของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน
นอกจากนี้ พื้นที่หลักดังกล่าวแล้ว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนยังทำหน้าที่ในการถ่ายทอดวิชาการแผนใหม่ทั้งด้านการเพาะปลูกพืช การปศุสัตว์ การประมง การพัฒนาที่ดิน รวมทั้งด้านศิลปาชีพ ให้แก่เกษตรกร หรือประชาชนที่สนใจ ทั้งในจังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกและภาคกลางด้วย 

No comments:

Post a Comment